Saturday, June 8, 2013

ระบบการทำฟาร์มกวาง
สำหรับผู้ที่สนใจหรือมีโครงการจะเลี้ยงกวาง ควรจะเตรียมปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ให้พร้อมก่อน ได้แก่
1. ปัจจัยด้านความรู้ หมายถึงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเลี้ยงและดูแลกวาง โดยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับสหกรณ์กวางแห่งประเทศไทย มีการจัดครอสฝึกอบรมการเลี้ยงกวางปีละ 1 - 2รุ่น การอบรมแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 5 วัน ค่าใช้จ่ายประมาณ 3,500 บาท
2. ปัจจัยด้านพื้นที่ กวางเป็นสัตว์อยู่ง่ายกินง่าย สามารถเลี้ยงได้ทุกแห่งหนในประเทศไทยขอเพียงอยู่ในพื้นที่ไม่มีน้ำขังหรือน้ำท่วมก็พอ ขนาดของพื้นที่ก็ไม่จำเป็นต้องกว้างขวางอย่างของวัว พื้นที่แค่ 3 - 5 ไร่ สามารถเลี้ยงกวางได้เป็นร้อยตัว สมมุติว่าเรามีพื้นที่ 5 ไร่ แบ่งพื้นที่ไว้ประมาณ 3 ไร่ เพื่อผลิตหญ้าอีก 2 ไร่ ทำเป็นฟาร์มกวางได้ประมาณ 100 - 150 ตัว
3. ปัจจัยด้านอาหารและน้ำ อาหารที่กวางกินนอกจากหญ้าก็มีไม้ใบเขียวทั้งหลาย ยอดไม้ กิ่งไม้ กวางกินได้หมด ที่สำคัญคือน้ำต้องมีน้ำสำหรับใช้ในการผลิตหญ้า ผลิตพืชอาหารให้กวางกิน
4. ปัจจัยด้านเงินทุน ด้วยความที่กวางในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อยอยู่ ราคากวางตอนนี้จึงเทียบเท่ากับราคากวางนำเข้าคือประมาณ 25,000 บาท/ตัว เข้าใจว่าในอนาคตเมื่อกวางในประเทศมีจำนวนมากขึ้นราคาคงจะลดลงกวางที่ทาง สหกรณ์นำเข้ามาก็มีเพียง 1 สายพันธุ์ คือ รูซ่าจากนิวคาลิโดเนีย โดยติดต่อกับสหกรณ์กวางของเขาโดยตรง โดยเราวางสเปคกวางไปแล้ว นักวิชาการของซีราดที่ประจำอยู่ที่นั่นจะช่วยดูแลจัดหาให้ตามสเปคเรา แต่มีสมาชิกของสหกรณ์รายหนึ่งไปนำกวางเข้ามาจากเวียดนาม จัดการเองโดยที่ทางสหกรณ์ไม่ได้เกี่ยวข้องคือกวางทางเวียดนาม ทางเวียดนามเองก็มีกวางสายพันธุ์เหมือนของเราแต่ที่เขามีคือ กวางดาวเวียดนาม นอกนั้นจะคล้าย ๆ กับของเรา
5. ปัจจัยด้านบุคลากร คน ดูแลฟาร์มต้องสามารถอยู่ที่ฟาร์มได้ 24 ชั่วโมง เพื่อกันกวางหายเมื่อกวางหลุดออกไปแล้วมักไม่สามารถตามคืนได้และที่สำคัญคือ ต้องระวังไม่ให้สุนัขเข้ามารบกวนกวางเพราะมันชอบไล่กัดกวางโดยเฉพาะลูกกวาง
ในการจัดการฟาร์มนั้นก็มี 2 สิ่งที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่
1. โรงเรือนและอุปกรณ์การเลี้ยง มีอุปกรณ์ที่สำคัญคือ
รั้วกวาง เป็นรั้วที่ออกแบบมาเป็นพิเศษมีลักษณะดังนี้
1.1 ไม่เป็นสนิม มีอายุใช้งาน 20 ปี
1.2มีความยืดหยุ่นสูง (กระเด้งได้)
1.3 สูงประมาณ 2 เมตร รั้วเราใช้ล้อมกวางทำเป็นแปลงให้มันอยู่ ไม่จำเป็นต้องมีโรงเรือนแต่ควรมีร่มให้มันบ้าง วัสดุที่ใช้ทำรั้วทางสหกรณ์กวางได้ประสานงานกับทาง คุณสุรจิตเป็นผู้นำเข้าและบริการให้แก่สมาชิกสหกรณ์ลักษณะของรั่ว 1 ม้วนยาวประมาณ 100 เมตร สูง 5 เมตร ราคาประมาณ 17,500 บาท/ม้วน
สรุปแล้ว โรงเรือนไม่จำเป็นสำหรับกวาง ในส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างที่กินน้ำก็ใช้ที่รองส้วมต่อท่อเข้าไปเปิดน้ำใส่ไว้ให้มันกิน และถ้าหากจะเลี้ยงกวางเพื่อเป็นปศุสัตว์จริง ๆ นั้นจะต้องมีส่วนประกอบที่มีความจำเป็นอีกอย่างหนึ่งได้แก่ อาคารจัดการกวาง หรือโรงเรือนจัดการกวาง มีลักษณะเป็นโรงเรือนสูงประมาณ 2 - 2.5 เมตร ฝาผนังทึบ แบ่งเป็นห้อง ห้องเล็ก ๆ แล้วแต่จำนวนกวาง มีห้องที่จะต้อนกวางเข้าไปในซองหนีบกวาง ซองหนีบกวางจะสร้างให้พื้นมันเปิดได้เวลากวางถูกหนีบมันจะไม่มีที่ยันและจะทำอะไรไม่ได้ แค่นี้เราก็สามารถตัดเขา ติดเบอร์หู ฝังชิป ฯลฯ ได้อย่างปลอดภัยกว่าที่จะไม่มีซองหนีบ
2. การจัดการด้านสุขาภิบาล กวางเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายมาก เพราะมันดูแลตัวเองได้ อย่างเรื่องอาหารกวางกิน งานจะหนักบ้างก็ตอนเช้า กับบ่ายที่ต้องไปตัดหญ้าให้มันกินและคอยดูแลให้น้ำเท่านั้นเอง ส่วนงานหนักจริง ๆ จะมีแค่ปีละ 1 - 2 ครั้ง คือ การตัดเขาอ่อน แยกฝูง และติดเบอร์หู ในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บนั้นแทบไม่มีอะไรเลย มูลกวางก็ไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติเพราะลักษณะ ของมูลกวางจะเป็นเม็ดคล้ายมูลแพะหรือกระต่าย คือแห้งและไม่มีกลิ่นเหม็น
การเลี้ยงดูกวางสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบดังนี้
การเลี้ยงดูกวางแบบปล่อยทุ่งกว้าง ในเกาะนิวคาลิโดเนีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์นั้นเนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวางการเลี้ยงกวางเป็นฟาร์มจึง ค่อนข้างจะเป็นแบบปล่อยทุ่งกว้าง กล่าวคือมีการกั้นพื้นที่ด้วยรั้งสูงประมาณ 1.80 เมตร ใช้ลวดชนิดยึดได้สูง (high tensile wire) ถักเป็นตาสี่เหลี่ยมประมาณ 12 ซม. มีเสาไม้สูง 1.8 เมตร ขนาดประมาณ 4 นิ้ว หรือที่เรียกทั่วไปว่าเสาหน้า 4 ฝังให้ห่างกันประมาณช่วงละ 8 เมตร โดยตลอดส่วนรั้งภายในนั้นจะมีความสูงประมาณ 2.20 เมตร ผังของฟาร์มจะประกอบด้วยรั้วล้อมรอบพื้นที่ฟาร์มทั้งหมด เรียกว่า รั้วเขตนอก (boarder fence) เพื่อกั้นเขตและป้องกันศัตรูโดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัข และมักจะใช้รั้วลวดหนามเป็นสันที่ขึงติดกับพื้นดินเพื่อป้องกันสุนัขศัตรู อื่น ๆ เข้ามาทำร้ายกวาง
ส่วนภายในฟาร์มจะมีการกั้นรั้วแบ่งพื้นที่ออกเป็น แปลงย่อยหลาย ๆ แปลง เพื่อให้กวางอยู่อาศัยและกินหญ้าตลอดจนใบไม้เป็นอาหารได้ในแต่ละแปลง และเพื่อให้สามารถต้อนกวางไปอยู่ในแปลงอื่นที่มีอาหารมากกว่า โดยให้เวลาหญ้าและต้นไม้ในแปลงเก่าได้มีโอกาสแตกใบได้อีก จึงต้องมีการกั้นบริเวณกลางฟาร์มเป็นช่องคล้ายถนนยาวตลอดฟาร์มตั้งแต่ด้าน หน้าไปจนถึงด้านหลังสุดของฟาร์มเพื่อใช้เป็นช่องทางต้อนกวางเปลี่ยนสลับแปลง ได้โดยง่าย
สำหรับกวางที่ตั้งท้องและพร้อมจะคลอดนั้นจะต้อง จัดแปลงขนาดพอเหมาะไว้แปลงหนึ่งต่างหากโดยนอกจากจะมีหญ้าเป็นอาหารพอเพียง แล้วควรจะมีพุ่มไม้เตี้ย ๆ ไว้จำนวนหนึ่งด้วยเสมอ ทั้งนี้เพราะแม่กวางจะเข้าไปซุกอยู่ใต้พุ่มไม้หนาทึบและคลอดลูกเอง ลูกกวางที่คลอดออกมาใหม่จะนอนนิ่งใต้พุ่มไม้นี้โดยคอยดูดนมแม่ทุกวันจนครบ 1 - 2 สัปดาห์จึงสามารถลุกวิ่งเดินตามแม่ไปได้ ลูกกวางจะหย่านมที่อายุประมาณ 6 - 7 เดือน ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอาหาร เมื่อหย่านมแล้วเจ้าของฟาร์มก็ต้องแยกไปรวมผูงตามขนาดอายุเดียวกันไว้ในแปลง ที่แยกออกไปต่างหากมิเช่นนั้นกวางที่ตัวโตกว่าจะทำร้ายถึงตายได้
อัตราส่วนของกวางตัวผู้ที่นิยมใช้มักจะใช้ 1 ต่อตัวเมีย 20 - 30 ตัว แต่ในบางกรณีหากตัวผู้มีความสามารถสูงก็อาจคุมตัวเมียได้ถึง 40 - 50 ตัว ซึ่งก็มีปัจจัยสำคัญน่าจะอยู่ที่อาหารและการบำรุงตัวผู้เป็นสำคัญ
การเลี้ยงดูกวางแบบขังคอกในพื้นที่จำกัด สำหรับรูปแบบของการเลี้ยงกวางในระบบฟาร์ม นอกเหนือจากการเลี้ยงในแปลงปล่อยพื้นที่กว้าง ๆ อย่างในประเทศนิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, นิวคาลิโดเนีย แล้วก็มีรูปแบบการเลี้ยงอีกอย่างคือการเลี้ยงแบบขังคอก ซึ่งก็คือในการเลี้ยงตามสวนสัตว์ต่าง ๆ แต่ทว่าใช้พื้นที่น้อยกว่า กล่าวคือจะใช้พื้นที่เพียง 3 * 4 เมตร หรือ 5 * 8 เมตร ก็สามารถเลี้ยงกวางได้ 6 - 12 ตัว
อย่างที่ไต้หวันได้ทำการเลี้ยงอยู่ทุกวันนี้ จะกั้นคอกเป็นห้อง ๆ ซึ่งก็มีทั้งที่เป็นคอกแบบทึบและแบบโปร่ง คือคอกแบบทึบนั้นจะปิดทึบผนังด้านข้างทั้งสองด้าน ส่วนด้านหน้าและด้านหลังจะมีช่องระบายอากาศให้ พร้อมกับเป็นช่องสำหรับใส่หญ้าและมีช่องประตูเข้าออกและพื้นคอกเทด้วยซีเมนต์ โดยมีอ่างน้ำใส่ไว้ให้กวางกินอยู่ในคอกด้วย
สำหรับคอกแบบโปร่งก็มีการกั้นเป็นห้อง ๆ เหมือนกับคอกแบบทึบ จะต่างกันเพียงว่าการกั้นแบ่งเป็นคอกนั้นใช้ลวดตาข่ายเป็นที่กั้น ก็เลยทำให้คอกโปร่งหรือเรียกว่าคอกแบบโปร่งและเช่นเดียวกันภายในคอกมีราง หญ้าและอ่างน้ำ หรือบางแห่งก็จัดวางไว้ที่ด้านหน้าของคอก นอกจากนั้นก็มีการเทพื้นคอกด้วยปูนซีเมนต์ ผู้ที่ได้ไปเห็นมาเล่าว่า ช่วยให้ง่ายต่อการทำความสะอาดคือ เพียงฉีดน้ำเข้าไปล้างอุจจาระและเศษอาหารที่ตกหล่นอยู่ในคอก ก็จะถูกชะล้างออกหมด

ลักษณะทั่วไปของกวาง
กวาง เป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่ง มีลักษณะของการระวังภัยสูงมากจึงมีอาการตื่นตัวและระมัดระวังภัยจนเป็นนิสัยอยู่ตลอดเวลา มีการหากินโดยอาจจะเป็นพวกที่ชอบหากินและอยู่เดี่ยว ๆ หรืออยู่เป็นกลุ่มเป็นฝูงหรืออยู่เดี่ยวบ้างเป็นบางครั้งก็มี ขนาดตัวของกวางจะมีตั้งแต่ตัวเล็กเท่า ๆ กับลูกแกะไปจนถึงขนาดใหญ่เท่าม้า สามารถอยู่ได้ในภูมิอากาศเขตหนาว หรือเขตอากาศอบอุ่น ไปจนถึงเขตร้องชื้น
ทั้งนี้โดยแยกออกเป็นชนิดต่าง ๆ ตามภูมิอากาศที่อยู่อาศัยเช่น กวางแดง กวางวาปิติ และกวางดาว อยู่ในเขตภูมิอากาศอบอุ่น กวางเรนเดียร์ กวางมูซ อยู่ในเขตภูมิอากาศเขตหนาว และกวางม้า กวางรูซ่า เนื้อทราย อยู่ในภูมิอากาศร้อนชื้น เป็นต้น
ลักษณะพิเศษของกวาง เนื่องจากกวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผู้เป็นสัตว์ที่สามารถผลัดเปลี่ยนเขาได้ ทุกปี กล่าวคือเมื่อใกล้ถึงฤดูผสมพันธุ์จะมีการสร้างเขาอ่อน (VELVET ANTLER) ซึ่งก็คือโครงสร้างของมวลคล้ายกระดูกอ่อนที่ยังมีเลือดไปหล่อเลี้ยงอยู่ตลอด เวลาได้ และนำเอาแร่ธาตุ ฮอร์โมน วิตามิน และโภชนะต่าง ๆ ขึ้นไปสู่เขาอ่อนนี้อยู่เรื่อย ๆ โดยมีหนังเต็มไปด้วยขนสั้นละเอียดและหนาแน่นมองดูคล้ายผ้ากำมะหยี่ห่อหุ้ม อยู่โดยตลอดเต็มตา
ดังนั้นชาวตะวันตกจึงเรียกเขาอ่อนชนิดนี้ว่า VELVET ANTLER หรือ VELVET คำเดียวซึ่งก็แปลว่าเขากำมะหยี่หรือเขาอ่อนนั่นเอง เขาอ่อนนี้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งประมาณ 2 - 4 เดือนก็จะแปรสภาพไปเป็นเขาแข็งที่แท้จริงโดยมีขนาดกิ่งก้านสาขาใหญ่โตมาก น้อยตามอายุของกวางและภายในเขามีลักษณะคล้ายหินปูนสีขาวแข็งมากและ คล้ายกระดูก
ชาวตะวันตกจึงเรียกเขาชนิดนี้ว่า แอนท์เลอร์ (ANTLER) ซึ่งน่าจะแปลว่าเขาผลัดได้ซึ่งแตกต่างไปจากคำว่า HORN อันหมายถึงเขาที่มีลักษณะเป็นกระดูก ดังนั้นในทางวิทยาศาสตร์จึงได้จัดให้กวางเป็นสัตว์อยู่ในตระกูลเซอรวิเดอี (CERVIDAE) ซึ่งก็หมายถึงสัตว์ที่ผลัดเปลี่ยนเขาได้ทุกปีในเพศผู้นั่นเอง
การผสมพันธุ์ ในช่วง ต้นของฤดูผสมพันธุ์ซึ่งส่วนมากจะอยู่กลางฤดูฝนคือประมาณเดือนกรกฏาคมเป็นต้น ไปนั้น กวางที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไปก็จะเริ่มงอกเขาอ่อน (VELVET ANTLER) ออกมาจากปุ่มส่วนหน้าสุดของกระโหลกศรีษะ (frontal bone procees) ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่าเบอร์ (Burrs) โดยงอกออกมามีรูปร่างเหมือนเขา แต่จะแตกต่างจากเขาก็โดยที่มีหนังหุ้มดังได้อธิบายไว้ข้างต้น ต่อมาเมื่อมันได้สลัดหนังหุ้มกำมะหยี่โดยการถูไถกับต้นไม้จนหนังหุ้มหลุด ออกไปหมดแล้ว ก็จะถือว่าเป็นชุดเขาผลัดได้ที่แท้จริง (ANTLER) เกิดขึ้น โดยระยะเวลาตั้งแต่แรกงอกมาจนถึงเวลานี้จะอยู่ระหว่าง 3 - 6 เดือน ขึ้นอยู่กับอายุสัตว์
หลังจากนั้นกวางตัวผู้เหล่านี้ก็จะไม่กินอาหารใด ๆ เลย และจะต่อสู้กันเองเพื่อความเป็นใหญ่แต่ผู้เดียว คุมฝูงตัวเมียผสมพันธุ์จนหมดฤดูผสมพันธุ์ไปในประมาณฤดูหนาว และโดยที่ระยะเวลาเป็นสัดของกวางตัวเมียมีเพียง 3 - 4 ชั่วโมงเท่านั้นกวางตัวผู้จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาจนกว่าจะผสม พันธุ์เสร็จจึงค่อยติดตามตัวอื่นในฝูงต่อไป
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นกฎธรรมชาติที่สัตว์ตัวที่แข็งแรงกว่าเท่านั้นจะสามารถสืบพันธุ์และดำรงสืบสานต่อไปได้
กวางตัวเมียจะตั้งท้องประมาณ 8 เดือน และออกลูก 1 ตัวเป็นส่วนใหญ่ การออกลูก 2 ตัวนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกวางในเมืองร้อน แต่หากเป็นเมืองหนาวแล้ว มีโอกาสได้ลูก 2 ตัวสูงกว่า
การทำฟาร์มกวางอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี 2535 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 กุมภาพันธ์ 2535 "การนำสัตว์ป่ามาเพาะเลี้ยงเพื่อการศึกษาทางวิชาการ หรือถ้ามีการค้าหรือครอบครองจะต้องเป็นสัตว์ที่เกิดจาการเพาะเลี้ยง ซึ่งกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 1 กำหนดสัตว์ที่จะเพาะเลี้ยง 4 ประเภท คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ซึ่งในประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ กำหนดไว้ 6 ชนิด คือ กวางรูซ่า และกวางม้า กระจงเล็ก เก้ง ชะมดเช็ด เนื้อทราย และลิงกัง"
ดังนั้น วิธีการทำฟาร์มกวางอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็คือ ในกรณีกวางม้าให้แจ้งขออนุญาตต่อกรมป่าไม้ ป่าไม้เขตหรือป่าไม้จังหวัด ประการสำคัญก็คือ การเลี้ยงกวางม้าจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เป็นกวางจากการเพาะเลี้ยงไม่ใช่กวางป่า สำหรับกวางรูซ่าซึ่งต้องนำเข้านั้น ควรแจ้งให้กรมป่าไม้ทราบข้อมูลการนำเข้าไว้เป็นหลักฐาน สำหรับหน่วยงานในการป่าไม้ที่จะติดต่อ คือ ฝ่ายเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยผู้จะดำเนินธุรกิจฟาร์มกวางต้องยื่นคำขออนุญาตเพาะ เลี้ยง
โดยในเขตกทม. ยื่นที่กองการอนุญาต กรมป่าไม้กระทรวงเกษตร ส่วนในต่างจังหวัดยื่นได้ที่ป่าไม้อำเภอหรือกิ่งอำเภอ โดยผู้ขอรับการเพาะเลี้ยงต้องเป็นเจ้าของกิจการเอง อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ไม่เป็นผู้ถูกศาลสั่งฟ้องล้มละลาย ไม่อยู่ในระหว่างพักใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และไม่เคยถูกถอนใบอนุญาตซึ่งออกตาม พรบ. ฉบับนี้ ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นนิติบุคคลจำเป็นต้องมีโครงการแสดงแผน และรายละเอียดการเพาะเลี้ยง จำนวนกวางที่จะเพาะเลี้ยง เครื่องมืออุปกรณ์วิธีการแผนการเพาะพันธุ์ และยังต้องมีคนงานอีกจำนวนหนึ่งซึ่งกฎหมายระบุไว้อย่างรัดกุมเพื่อให้แน่ใจ ว่ากวางที่จะนำมาเพาะเลี้ยงได้รับการดูและให้อยู่ในสภาพดี และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยข้างเคียง
นอกจากนี้ ผู้ทำการเพาะเลี้ยงที่จะทำเป็นการค้ากรมป่าไม้ก็จะออกใบอนุญาตเพาะเลี้ยง และใบอนุญาตให้ค้าได้ หากผู้ได้รับอนุญาตไม่ปฎิบัติตามหรือปฎิบัติไม่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงกวาง รวมไปถึงได้ละเลยไม่จัดหามาเลี้ยงตามที่ได้ขออนุญาติภายใน 1 ปี หากเจ้าหน้าที่พบจะรายงานให้อธิบดีกรมป่าไม้ทราบ เพื่อให้มีคำสั่งระงับ และในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบในฟาร์มเพาะพันธุ์
ผู้เป็นเจ้าของฟาร์มจะต้องอำนวยความสะดวกให้ตามสมควร และจะต้องแสดงบัญชีชนิด จำนวนกวางที่เลี้ยง โดยกำหนดให้ยื่นครั้งแรกภายใน 30 วันหลังจากได้รับใบอนุญาต ส่วนในกรณีกวางในฟาร์มเพิ่มหรือลดลงจากบัญชีที่แจ้งไว้เบื้องต้นจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ 30 วันหลังจากได้รับใบอนุญาต
ส่วนในกรณีการสั่งซื้อพันธุ์มาจากต่างประเทศ จะต้องไม่ใช่ตระกูลกวางในเมืองไทย คือ กวางม้า และกวางดาว แต่กวางสั่งซื้อพันธุ์มาจากต่างประเทศเหล่านี้ได้ต้องได้จากการเพาะเลี้ยง อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายฉบับใดในประเทศที่มารองรับไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองการนำเข้าหรือขนส่งออก การตรวจสอบใบเคลื่อนย้าย ใบกำกับการฉีดวัคซีนหรือใบรับรองสุขภาพสัตว์รวมไปถึงการตรวจกักสัตว์เพื่อตรวยโรค ในกรณีการพิจารณาออกใบอนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่าได้นั้น
อธิบดีกรมป่าไม้เป็นผู้พิจารณา โดยจะคำนึงถึงความรู้ความสามารถ รวมไปถึงประสบการณ์ในการดำเนินการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า และฐานะการของผู้ขอรับอนุญาต ตลอดจนจะดูถึงความเหมาะสมของสถานที่ใช้เพาะพันธุ์ เมื่อยื่นขอใบอนุญาตแล้วจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบไปตรวจสอบ พันธุ์กวางที่ได้ทำการเพาะพันธุ์ ภายในกำหนดระยะเวลา ซึ่งแล้วแต่กรณี ดังนี้
  • มีกวางอยู่ในครอบครองอยู่แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับอนุญาต
  • ไม่มีกวางอยู่ในครอบครองแจ้งเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน และเมื่อมีพันธุ์กวางที่จะทำการเพาะพันธุ์จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบ พร้อมทำเครื่องหมายประจำตัวกวางภายใน 7 วันทำการ
หลังจากดำเนินการเพาะเลี้ยงกวางไปแล้ว ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามดังนี้
1. แสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยในฟาร์มที่เพาะเลี้ยง
2. ต้องทำการเพาะพันธุ์หรือเพาะเลี้ยงภายใน 1 ปี หลังจากที่ได้รับใบอนุญาต
3. ต้องมีนักวิชาการ สัตวแพทย์ หรือสัตวบาลประจำฟาร์มเพาะเลี้ยง
4. ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลสัตว์ป่า
ข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าตาม พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี 2535
1. ค่าใบอนุญาตให้เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าฉบับละ 1,000 บาท
2. ใบอนุญาตให้มีไว้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองและซากสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้จากการเพาะเลี้ยงฉบับละ 500 บาท
3. ใบอนุญาตค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้จากการเพาะพันธุ์ฉบับละ 1,000 บาท
4. ในอนุญาตค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเพาะพันธุ์ฉบับละ 1,000 บาท
5. ใบอนุญาตให้นำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้จากการเพาะพันธุ์ฉบับละ 500 บาท
6. ใบอนุญาตให้นำผ่านสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองและซากสัตว์สงวนหรือซากสัตว์ป่าคุ้มครองฉบับละ 500 บาท
7. ใบอนุญาตให้นำสัตว์ป่าคุ้มครองเคลื่อนที่เพื่อการค้าฉบับละ 100 บาท
8. ใบรับรองให้นำเข้า ส่งออกหรือให้นำผ่านสัตว์ป่าฉบับละ 500 บาท
9. ใบรับรองให้นำเข้า ส่งออกหรือให้นำผ่านสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่าฉบับละ 500 บาท
10. ใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะฉบับละ 10,000 บาท
11. ใบแทนใบอนุญาตหรือใบรับรองฉบับละ 100 บาท
12. การต่ออายุใบอนุญาตฉบับละ 500 บาท
พันธุ์กวาง
สำหรับผู้จะทำธุรกิจฟาร์มกวางประเด็นที่ควรพิจารณาว่ากวางพันธุ์ใดควรจะเลี้ยงเป็นการค้าในประเทศไทยมี 5 ประเด็นคือ
1. ควรเป็นพันธุ์ที่เขาอ่อนขนาดใหญ่ เพราะเขาอ่อนจะเป็นรายได้หลักจากการเลี้ยงกวางในระยะแรก
2. ควรเป็นพันธุ์ที่มีขนาดตัวขนาดกลาง เพื่อสะดวกแก่การจัดการ และได้เนื้อมากพอสมควร ซึ่งรายได้จากเนื้อกวางผู้ประกอบธุรกิจนี้จะได้รับภายหลังจากเลี้ยงกวางไปได้ 4 - 5 ปี
3. ควรเป็นพันธุ์ที่อยู่ได้ทั้งพื้นที่ชื้นและแห้ง เติบโตได้ดีในภูมิอากาศร้อนชื้นของไทย
4. ควรเป็นพันธุ์ต้านโรคติดต่อโดยเฉพาะวัณโรค โรคปากและเท้าเปื่อย และโรคโลหิตเป็นพิษ โรคจากเห็บและแมลงต่าง ๆ ซึ่งโรคเหล่านี้พบบ่อยในการเลี้ยงกวางในมาเลเซีย
5. โตเร็วและกินพืชได้หลายชนิด
ซึ่งเมื่อพิจารณาประเด็นต่าง ๆ แล้วพันธุ์กวางที่น่าสนใจ คือ
1. พันธุ์กวางไทย หรือเรียกกันว่า กวางม้า กวางควาย หรือกวางป่า (Sambar Deer) สูงประมาณ 135 - 150 เซนติเมตร น้ำหนักตัวผู้ประมาณ 200 - 300 กิโลกรัม ขนาดกำลังพอเหมาะในการเลี้ยง ง่ายต่อการควบคุม และให้เนื้อปริมาณมากพอสมควร ให้น้ำหนักเขาอ่อนสดประมาณ 3 - 4 กิโลกรัม เป็นเขาอ่อนที่นิยมมากในตลาดเอเซีย อาศัยอยู่ได้ในที่ลุ่ม ปลัก หรือแห้ง ยังไม่มีรายงายการเป็นวัณโรคปอด ทนต่อเห็บและแมลง เป็นโรคปากและเท้าเปื่อย และมีรายงานเกี่ยวกับโรคโลหิตเป็นพิษน้อยมาก อย่างไรก็ตามปัญหาคือ ปัจจุบันปริมาณกวางไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้สนใจเลี้ยง
2. กวางชวา หรือกวางรูซ่า (Rusa Deer) กวางประเภทนี้มีน้ำหนักเขาอ่อนสดน้อยมากเพียง 1 กิโลกรัม และเป็นเขาอ่อนที่ยังไม่เป็นที่นิยมในตลาดเอเซีย เนื่องจากขนาดตัวเล็ก ตัวผู้สูงประมาณ 80 - 100 เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 40 - 60 กิโลกรัมให้เนื้อน้อยประมาณ 35 กิโลกรัมต่อตัว อยู่ได้เฉพาะในพื้นที่แห้งและอากาศแห้ง พบว่าการเลี้ยงในมาเลเซียเป็นวัณโรคปอดบ่อย ๆ กวางรูซ่ามี 2 สายพันธุ์ คือ โมลัคกันรูซ่า (Moluccan Rusa) นิยมเลี้ยงในออสเตรเลีย และจาวานรูซ่า (Javan Rusa) มีขนาดใหญ่กว่าร้อยละ 25 นิยมเลี้ยงในนิวคาลิโดเนีย
3. กวางดาว หรือกวางทอง (Chital Deer) ให้น้ำหนักเขาอ่อนสด 2 - 3 กิโลกรัม อยู่ในที่ชื้นแห้งในประเทศไทยยังไม่มีรายงานวัณโรคปอด มีเลี้ยงในไทยมาแล้วเป็นเวลานานกว่า 50 ปี กินพืชได้หลายชนิด มีลักษณะเชื่องมากกว่ากวางชนิดอื่น ๆ
4. กวางซิก้า หรือกวางจีน (Sika Deer) ให้น้ำหนักเขาอ่อนสด 2 - 3 กิโลกรัม เป็นเขาที่นิยมในตลาดเอเซียชนิดหนึ่ง ตัวผู้น้ำหนัก 60 - 80 กิโลกรัม สูง 1 เมตร มีถิ่นกำเนิดในญี่ปุ่น และจีน ซึ่งมีอากาศแห้ง ยังไม่มีรายงานโรควัณโรคปอด และโรคปากและเท้าเปื่อย เกษตรกรทั่วไปสามารถเลี้ยงได้ โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาติจากกรมป่าไม้ จึงเป็นกวางที่น่าสนใจอีกพันธุ์หนึ่ง

5. กวางแดง (Red Deer) ให้น้ำหนักเขาอ่อนสด 4 - 5.5 กิโลกรัม เป็นเขาที่นิยมในตลาดพอสมควร และเป็นกวางที่ให้เขาอ่อนที่ขนาดใหญ่ที่สุดเทียงกับกวางที่กล่าวมาแล้ว ตัวผู้น้ำหนักตัว 300 - 400 กิโลกรัม สูงประมาณ 150 - 160 เซนติเมตร มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเขตหนาวอากาศแห้ง หลักฐานการเลี้ยงในเมืองไทยยังไม่ทราบแน่ชัด จึงยังไม่มีรายงานทราบเรื่องโรคต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม กวางแดงเป็นพันธุ์กวางที่เลี้ยงมากที่สุดในนิวซีแลนด์ และพบว่าป่วยเป็นวัณโรคบ่อย

Wednesday, June 5, 2013

ประวัติการเลี้ยงกวางในส่วนต่าง ๆ ของโลก
นิวซีแลนด์ เริ่มเลี้ยงกวางมาประมาณ 20 ปีแล้วแต่ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการเลี้ยงกวาง สามารถทำรายได้เข้าออกประเทศหลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการส่งออกเนื้อกวางไปจำหน่ายต่างประเทศ ปัจจุบันพัฒนาการเลี้ยงครบวงจรจากที่เริ่มจากการเลี้ยงเพื่อตัดเขา รัฐบาลให้การสนับสนุนทุกด้าน ออกฎหมายรับรองการทำธุรกิจฟาร์มกวางมีการเตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เลี้ยงกวาง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งฟาร์มตลอดจนการหาตลาด รวมไปถึงการควบคุมดูแลคุณภาพของเนื้อกวางเพื่อการส่งออก ลักษณะการเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นแบบปล่อยเลี้ยงเป็นฝูงใหญ่ในทุ่งหญ้าเนื้อที่ หลายพันไร่ และบริเวณรอบ ๆ ฟาร์มทำรั้วตาข่ายล้อมรอบ โดยลวดตาข่ายจะมีความยืดหยุ่นเป็นพิเศษ เวลาที่กวางกระโดชนจะไม่บาดเจ็บ มีการจัดการฟาร์มที่ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกสายพันธุ์กวาง การผสมพันธุ์ กวางลูกผสมมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วและต้านโรคได้ดี ปัจจุบันสายพันธุ์กวางในนิวซีแลนด์มีการพัฒนาสายพันธุ์กวางทั้งการผสมเทียม การย้ายฝากตัวอ่อน และมีความชำนาญมากในการผสมข้ามพันธุ์ (วัตถุประสงค์ของการผสมพันธุ์ก็เพื่อจะได้กวางที่เขาใหญ่ มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วหรือโตเร็ว น้ำหนักซากดี) นอกจากนี้ยังปราศจากโรคร้ายแรง เนื่องจากภูมิประเทศเป็นเกาะอยู่ไกลจากประเทศอื่น ในนิวซีแลนด์ มีการเลี้ยงกวางแดงมากที่สุด นอกจากนั้นเป็นกวางวาปิตี กวางซิก้า และกวางฟอลโล ปัจจุบันมีฟาร์มเลี้ยงเพื่อเป็นการค้าประมาณ 500 ฟาร์ม มีจำนวนกวาง 1.5 แสนตัว เดิมรายได้จากผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของนิวซีแลนด์เรียงตามลำดับดังนี้ โคเนื้อ โคนม แกะ และผลิตภัณฑ์กวาง ปัจจุบันรายได้จากผลิตภัณฑ์กวางแซงขึ้นเป็นอันดับ 3 แทนแกะ
ออสเตรเลีย เริ่ม เลี้ยงกวางช่วงปี 2390 โดยนำเข้ากวางจากยุโรป และตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เคยกำหนดว่าเจ้านายหรือราชวงศ์เท่านั้น จึงมีสิทธิโดยถูกต้องตามกฎหมายที่จะมีกวางไว้ในครอบครอง หลังจากนั้นจึงมีการเลี้ยงกวางในฟาร์มโดยเริ่มที่รัฐควีนส์แลนด์ อุตสาหกรรมการเลี้ยงกวางแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เลี้ยงกวางเมืองหนาว ได้แก่ กวางดาวยุโรป และกวางแดง ส่วนมากมักอยู่ตอนใต้ของประเทศในรัฐนิวเซาท์เวลส์และวิคทอเรีย เนื่องจากมีภูมิอากาศเหมาะสม อีกกลุ่มหนึ่ง คือผู้เลี้ยงกวางเมืองร้อน คือกวางโมลัคกันรูซ่า บริเวณรัฐควีนแลนด์ ปัจจุบันออสเตรเลียมีกวางเลี้ยงในฟาร์ม 42,670 ตัว โดยร้อยละ 60 เป็นกวางเมืองหนาว ผลผลิตหลักของกวางในออสเตรเลีย คือเนื้อกวาง ในขณะที่เขากวางอ่อน หาง หนัง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เป็นผลพลอยได้ ปัจจุบันออสเตรเลียนำกวางต่างชนิดมาผสมข้ามพันธุ์เพื่อปรับปรุงขนาดและเพิ่ม ผลผลิตเนื้อ ส่วนทางด้านการตลาดในออสเตรเลีย มุ่งเน้นเนื้อกวางเพื่อป้อนตลาดในประเทศเป็นหลัก หลังจากที่เคยพึ่งพิงการนำเข้าจากนิวซีแลนด์ มุ่งเน้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศที่มีความเชื่อถือในคุณภาพ ของเนื้อกวางต่างประเทศ
เกาะนิวเมีย ประเทศนิวคาลิโดเนีย (หมู่เกาะระหว่างออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) มีการเลี้ยงเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ทำธุรกิจครบวงจร คือมีโรงฆ่าและชำแหละซากกวาง ส่วนใหญ่ส่งเนื้อกวางไปจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีและฝรั่งเศส ส่วนตลาดเนื้อกวางนอกยุโรป คือมาเลเซีย กวางที่เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นกวางรูซ่า ซึ่งนำเข้ามาจากเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อประมาณ 120 ปีก่อนในปัจจุบันประมาณกันว่า ในเกาะนิวเมียมีกวางป่าจำนวนกว่า 100,000 ตัว และกวางเลี้ยงอยู่ในฟาร์มต่าง ๆ อีกประมาณ 150,000 ตัว มีฟาร์มกวางกว่า 1,000 ฟาร์ม ต้นกำเนิดฟาร์มกวางในเกาะนิวเมีย เริ่มขึ้นในปี 2530 องค์การซีราดของฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาวิจัย และชักชวนชาวนิวคาลิโดเนียทำธุรกิจฟาร์มกวาง ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนผู้ทีฟาร์มกวางหลายด้าน ทั้งการลงทุนและการตลาดผลิตภัณฑ์กวาง ในด้านการลงทุนรัฐบาลตั้งหน่วนงานให้สินเชื่อตลอดจนช่วยประสานกับทางการในการจัดหาที่ดินเพื่อทำฟาร์ม ผู้เลี้ยงได้เงินกู้ระยะยาวที่มีเงื่อนไขดี อัตราดอกเบี้ยต่ำ ระยะปลอดหนี้ระยะยาว ส่วนในด้านการตลาด รัฐบาลสนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นสมาคมเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนกระตุ้นให้มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการทำฟาร์ม ตั้งองค์การขึ้นมาทำการตลาดคือ OCEF ซึ่งมีโรงฆ่าและตัดแต่งเนื้อกวาง รับกวางจากเกษตรกรนำมาแปรสภาพไปเป็นเนื้อแล้วบรรจุหีบห่อเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ องค์กรนี้ยังทำหน้าที่ด้านการตลาดแทนเกษตรกร ตั้งแต่การเจรจา จัดทำข้อตกลง ตลอดจนจัดส่ง และจัดการด้านบริหารการเงิน
จีนและไต้หวัน เลี้ยงกวางแดงและกวางเอล ซึ่งเป็นกวางเมืองหนาวเป็นส่วนใหญ่ แต่การเลี้ยงยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ในจีนวัตถุประสงค์ของการเลี้ยงกวางก็เพื่อตัดเขาอ่อนจำหน่ายเพียงอย่างเดียว การเลี้ยงจะเลี้ยงเป็นรุ่น ๆ แยกเพศ และจะเลี้ยงแบบแยกขังในกรง
เวียดนาม เลี้ยงกวางพันธุ์ฟอลเลน และซิก้า โดยเน้นการตัดเขา และแหล่งเลี้ยงอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ปัจจุบันมีการเลี้ยงเป็นการค้าประมาณ 1,000 ตัว อย่างไรก็ตามการเลี้ยงในประเทศยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร
มาเลเซีย ตื่นตัวที่จะเลี้ยงกวางเป็นการค้าก่อนหน้าประเทศไทย 4 - 5 ปี นำเข้าพันธุ์จากนิวซีแลนด์ ปัจจุบันมีการเลี้ยงกวางประมาณ 2,000 - 3,000 ตัว นอกจากนี้กวางป่าในประเทศเพื่อนบ้านของไทย พม่ามีจำนวนกวางมากที่สุด
สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์กวางแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2537 ระหว่างนั้นก็เริ่มติดต่อนำกวางเข้า กวางที่สหกรณ์นำเข้ามามีทั้งหมด 3 รุ่น รวมทั้งหมด 970 ตัว รุ่นสุดท้ายนำเข้าเมื่อปี 2540 กวางทุกรุ่นที่นำเข้ามามีอายุประมาณ 1 ปี สัดส่วนของตัวผู้ต่อตัวเมียคือ 1 ต่อ 20 เป็นหลักที่ตกลงกันไว้กับนิวคาลิโดเนีย กวางทั้งหมดเป็นกวางรูซ่า ทุกวันนี้กวางพวกนี้กระจายไปอยู่ฟาร์มต่าง ๆ ในกลุ่มของสมาชิกเช่น ระยอง ตาก พังงา ราชบุรี นครปฐม สระบุรี นครนายก กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฯลฯ ปัจจุบันนี้มีสมาชิกอย่างเป็นทางการประมาณ 97 ราย ผู้เลี้ยงจริง ๆ ประมาณ 45 ราย จำนวนในแต่ละฟาร์มต่ำสุดประมาณ 20 ตัว สูงสุดประมาณ 500 ตัว ทุกวันนี้ก็มีการซื้อขายระหว่างสมาชิกกันเอง สำหรับผู้ที่สนใจจะเลี้ยงกวางจริง ๆ ก็ควรมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเลี้ยงและดูแลกวาง โดยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมกับสหกรณ์กวางแห่งประเทศไทย มีการจัดครอสฝึกอบรมการเลี้ยงกวางปีละ 1 - 2 รุ่น ประมาณ 40 คน การอบรมแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 5 วัน ค่าใช้จ่ายประมาณ 3,500 บาท นอกจากนี้ปัจจุบันกรมปศุสัตว์กำลังทดลองเลี้ยงกวางป่าอยู่ ความคืบหน้าจะมานำเสนอในโอกาสหน้า
Design by surachai