Saturday, June 8, 2013

การทำฟาร์มกวางอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี 2535 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 กุมภาพันธ์ 2535 "การนำสัตว์ป่ามาเพาะเลี้ยงเพื่อการศึกษาทางวิชาการ หรือถ้ามีการค้าหรือครอบครองจะต้องเป็นสัตว์ที่เกิดจาการเพาะเลี้ยง ซึ่งกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 1 กำหนดสัตว์ที่จะเพาะเลี้ยง 4 ประเภท คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ซึ่งในประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ กำหนดไว้ 6 ชนิด คือ กวางรูซ่า และกวางม้า กระจงเล็ก เก้ง ชะมดเช็ด เนื้อทราย และลิงกัง"
ดังนั้น วิธีการทำฟาร์มกวางอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็คือ ในกรณีกวางม้าให้แจ้งขออนุญาตต่อกรมป่าไม้ ป่าไม้เขตหรือป่าไม้จังหวัด ประการสำคัญก็คือ การเลี้ยงกวางม้าจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เป็นกวางจากการเพาะเลี้ยงไม่ใช่กวางป่า สำหรับกวางรูซ่าซึ่งต้องนำเข้านั้น ควรแจ้งให้กรมป่าไม้ทราบข้อมูลการนำเข้าไว้เป็นหลักฐาน สำหรับหน่วยงานในการป่าไม้ที่จะติดต่อ คือ ฝ่ายเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยผู้จะดำเนินธุรกิจฟาร์มกวางต้องยื่นคำขออนุญาตเพาะ เลี้ยง
โดยในเขตกทม. ยื่นที่กองการอนุญาต กรมป่าไม้กระทรวงเกษตร ส่วนในต่างจังหวัดยื่นได้ที่ป่าไม้อำเภอหรือกิ่งอำเภอ โดยผู้ขอรับการเพาะเลี้ยงต้องเป็นเจ้าของกิจการเอง อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ไม่เป็นผู้ถูกศาลสั่งฟ้องล้มละลาย ไม่อยู่ในระหว่างพักใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และไม่เคยถูกถอนใบอนุญาตซึ่งออกตาม พรบ. ฉบับนี้ ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นนิติบุคคลจำเป็นต้องมีโครงการแสดงแผน และรายละเอียดการเพาะเลี้ยง จำนวนกวางที่จะเพาะเลี้ยง เครื่องมืออุปกรณ์วิธีการแผนการเพาะพันธุ์ และยังต้องมีคนงานอีกจำนวนหนึ่งซึ่งกฎหมายระบุไว้อย่างรัดกุมเพื่อให้แน่ใจ ว่ากวางที่จะนำมาเพาะเลี้ยงได้รับการดูและให้อยู่ในสภาพดี และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยข้างเคียง
นอกจากนี้ ผู้ทำการเพาะเลี้ยงที่จะทำเป็นการค้ากรมป่าไม้ก็จะออกใบอนุญาตเพาะเลี้ยง และใบอนุญาตให้ค้าได้ หากผู้ได้รับอนุญาตไม่ปฎิบัติตามหรือปฎิบัติไม่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงกวาง รวมไปถึงได้ละเลยไม่จัดหามาเลี้ยงตามที่ได้ขออนุญาติภายใน 1 ปี หากเจ้าหน้าที่พบจะรายงานให้อธิบดีกรมป่าไม้ทราบ เพื่อให้มีคำสั่งระงับ และในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบในฟาร์มเพาะพันธุ์
ผู้เป็นเจ้าของฟาร์มจะต้องอำนวยความสะดวกให้ตามสมควร และจะต้องแสดงบัญชีชนิด จำนวนกวางที่เลี้ยง โดยกำหนดให้ยื่นครั้งแรกภายใน 30 วันหลังจากได้รับใบอนุญาต ส่วนในกรณีกวางในฟาร์มเพิ่มหรือลดลงจากบัญชีที่แจ้งไว้เบื้องต้นจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ 30 วันหลังจากได้รับใบอนุญาต
ส่วนในกรณีการสั่งซื้อพันธุ์มาจากต่างประเทศ จะต้องไม่ใช่ตระกูลกวางในเมืองไทย คือ กวางม้า และกวางดาว แต่กวางสั่งซื้อพันธุ์มาจากต่างประเทศเหล่านี้ได้ต้องได้จากการเพาะเลี้ยง อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายฉบับใดในประเทศที่มารองรับไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองการนำเข้าหรือขนส่งออก การตรวจสอบใบเคลื่อนย้าย ใบกำกับการฉีดวัคซีนหรือใบรับรองสุขภาพสัตว์รวมไปถึงการตรวจกักสัตว์เพื่อตรวยโรค ในกรณีการพิจารณาออกใบอนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่าได้นั้น
อธิบดีกรมป่าไม้เป็นผู้พิจารณา โดยจะคำนึงถึงความรู้ความสามารถ รวมไปถึงประสบการณ์ในการดำเนินการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า และฐานะการของผู้ขอรับอนุญาต ตลอดจนจะดูถึงความเหมาะสมของสถานที่ใช้เพาะพันธุ์ เมื่อยื่นขอใบอนุญาตแล้วจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบไปตรวจสอบ พันธุ์กวางที่ได้ทำการเพาะพันธุ์ ภายในกำหนดระยะเวลา ซึ่งแล้วแต่กรณี ดังนี้
  • มีกวางอยู่ในครอบครองอยู่แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับอนุญาต
  • ไม่มีกวางอยู่ในครอบครองแจ้งเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน และเมื่อมีพันธุ์กวางที่จะทำการเพาะพันธุ์จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบ พร้อมทำเครื่องหมายประจำตัวกวางภายใน 7 วันทำการ
หลังจากดำเนินการเพาะเลี้ยงกวางไปแล้ว ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามดังนี้
1. แสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยในฟาร์มที่เพาะเลี้ยง
2. ต้องทำการเพาะพันธุ์หรือเพาะเลี้ยงภายใน 1 ปี หลังจากที่ได้รับใบอนุญาต
3. ต้องมีนักวิชาการ สัตวแพทย์ หรือสัตวบาลประจำฟาร์มเพาะเลี้ยง
4. ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลสัตว์ป่า
ข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าตาม พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี 2535
1. ค่าใบอนุญาตให้เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าฉบับละ 1,000 บาท
2. ใบอนุญาตให้มีไว้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองและซากสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้จากการเพาะเลี้ยงฉบับละ 500 บาท
3. ใบอนุญาตค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้จากการเพาะพันธุ์ฉบับละ 1,000 บาท
4. ในอนุญาตค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเพาะพันธุ์ฉบับละ 1,000 บาท
5. ใบอนุญาตให้นำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้จากการเพาะพันธุ์ฉบับละ 500 บาท
6. ใบอนุญาตให้นำผ่านสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองและซากสัตว์สงวนหรือซากสัตว์ป่าคุ้มครองฉบับละ 500 บาท
7. ใบอนุญาตให้นำสัตว์ป่าคุ้มครองเคลื่อนที่เพื่อการค้าฉบับละ 100 บาท
8. ใบรับรองให้นำเข้า ส่งออกหรือให้นำผ่านสัตว์ป่าฉบับละ 500 บาท
9. ใบรับรองให้นำเข้า ส่งออกหรือให้นำผ่านสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่าฉบับละ 500 บาท
10. ใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะฉบับละ 10,000 บาท
11. ใบแทนใบอนุญาตหรือใบรับรองฉบับละ 100 บาท
12. การต่ออายุใบอนุญาตฉบับละ 500 บาท

0 comments :

Post a Comment

Design by surachai